วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บทเรียนจาก…ครูฝึกปลาวาฬ



บทเรียนจากครูฝึกปลาวาฬ

เคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า
ครูฝึก ผู้สอน ปลาวาฬและปลาโลมา ที่ซีเวิลดิ์ ทำให้ ปลาวาฬเพชฌฆาต ที่แสนดุร้าย
และมีน้ำหนักตัวมากถึง 19,000 ปอนด์ กระโดดได้สูงถึง 22 ฟุต เหนือผิวน้ำ และฝึกให้ทำการแสดงในท่าทางต่างๆได้อย่างไร?

การท้าทายที่ยิ่งใหญ่!!! พอๆกันกับสถานการณ์ที่พวกเราทั้งหลาย กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ในฐานะ

พ่อแม่ หรือ ผู้จัดการ

สิ่งแรกที่ครูฝึกต้องทำคือ
เอาเชือกไปแขวนไว้ให้สูงที่ตำแหน่ง 22 ฟุต
โดยยังไม่ต้องสนใจหรือคิดว่า
ปลาวาฬจะทำได้หรือไม่?

เราเรียกสิ่งนั้นว่า
การกำหนดเป้าหมาย 
หรือ การวางแผนกลยุทธ์

จากนั้นครูฝึกต้องคิดหาทางสร้าง
แรงกระตุ้น หรือ สิ่งจูงใจ

เพื่อที่จะทำให้ปลาวาฬทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมันก็คือ “อาหาร” ที่ปลาวาฬ “ชอบ” มันก็คือ
ปลานั่นแหละ
                                    
ถ้าครูฝึกนำ ถังบรรจุปลา
ไปแขวนที่ตำแหน่งสูง 22 ฟุต
และ
คาดหวังว่าปลาวาฬจะกระโดดข้ามเชือก เพื่อรับปลาเป็นรางวัล 
ปลาวาฬจะทำไหม?

แน่นอนว่ามันคงไม่ง่ายขนาดนั้น!!!


ดังนั้นครูฝึกต้องหาวิธีการ
เร่งหรือชักจูง
ให้ปลาวาฬกระโดดข้ามเชือกให้ได้

โดยครูฝึกจะต้อง สร้างสภาพแวดล้อม” เพื่อจะทำให้ปลาวาฬเกิดความมั่นใจได้ว่า มันสามารถทำได้ และมีความปลอดภัยพอที่จะทำ นั่นคือ

ครูฝึกจะเริ่ม “ขึงเชือกไว้ที่บริเวณ ใต้ผิวน้ำ” ในตำแหน่งที่ปลาวาฬสามารถว่ายข้ามไปมาได้

และทุกครั้งที่ปลาวาฬ ว่ายข้ามเชือกได้” มันก็จะได้รับรางวัล
   
ซึ่งจะทำให้มัน เรียนรู้ และ มีความมั่นใจ เพิ่มมากขึ้น

ปลาวาฬจะได้รับ

“ปลา”
รวมถึง
การสัมผัส การลูบหัว และ การหยอกล้อเล่น

เป็นรางวัล

แต่สิ่งสำคัญที่ปลาวาฬได้รับคือ พลังที่เข้มแข็งขึ้น

แล้วถ้าหากว่ามัน ไม่ยอมว่าย หรือกระโดดข้ามเชือก ล่ะจะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบคือ

ไม่มีอะไรทั้งสิ้น!!!




ไม่มีการทำโทษด้วยการช๊อตไฟฟ้า ไม่มีการตำหนิติเตียน ไม่มีการแสดงการตอบโต้ และไม่มีการบันทึกลงในประวัติของมัน 

ปลาวาฬได้รับการสอนให้รู้ว่าครูฝึกจะ

“เผิกเฉยไม่ใส่ใจ
และ
ไม่เห็นว่าการกระทำที่ผิดพลาดของมันนั้น
เป็นสาระสำคัญ

จากความมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้นเป็นรากฐาน อีกทั้งการได้รับรู้ว่า

ผู้ฝึกตื่นเต้นยินดีและประทับใจ กับความสำเร็จ
ทำให้ปลาวาฬกระโดดข้ามเชือกได้บ่อยครั้งมากขึ้น
และทำพลาดน้อยลง

ผู้ฝึกสอนจะค่อยๆ
ยกระดับความสูงของเชือก
ให้เพิ่มมากขึ้น

และการเพิ่มระดับความสูงของเชือกนั้น จะต้องไม่ช้าเกินไป จนทำให้ปลาวาฬรู้สึกหิว และส่งผลกระทบต่อสภาวะทางร่างกายและอารมณ์

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปตามขั้นตอนและสม่ำเสมอ

จนในที่สุด เจ้าปลาวาฬยักษ์
ที่หนัก 19,000 ปอนด์
ก็สามารถกระโดดข้ามเชือกที่
สูงถึง 22 ฟุต เหนือผิวน้ำ ได้สำเร็จ

บทเรียนที่ 1
ขึงเชือกเป้าหมายที่ 22 ฟุต
การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนา

ในฐานะที่เราเป็น ผู้นำ ผู้จัดการ ครูอาจารย์ โค้ช หรือ พ่อแม่ ที่จะต้องทำหน้าที่ในการ “ฝึกสอน”
หรือ ทำให้บุคคลทำตาม “วัตถุประสงค์” ที่เราต้องการ นั้น

สิ่งแรกที่จำเป็นที่สุดก็คือ
การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนา

ราต้องมองเห็นภาพ หรือ มีจินตนาการ ที่ชัดเจนแล้วว่า… เราต้องการให้เขาเป็นเช่นไร หรือ ต้องการให้ทำสิ่งใดได้ เราจึงจะสามารถพัฒนา หรือ ฝึกสอน ให้เขาเป็นไปตาม “เป้าประสงค์” นั้นๆได้ 

เริ่มต้นกันเลยครับ!




บทเรียนที่ 2
เตรียม “ปลา” เป็นรางวัล
ค้นหาสิ่งเร้าที่เขาชอบ – สิ่งที่เขาต้องการ

ตามทฤษฎีเกี่ยวกับการสร้างพฤติกรรมมนุษย์ นั้นกล่าวไว้ว่า… “ผลลัพธ์จากการกระทำในครั้งก่อน จะมีผลในการจูงใจให้เกิดการกระทำในครั้งต่อไป” นั่นหมายความว่า

ถ้าครั้งก่อนได้ผลลัพธ์ที่น่า พึงพอใจ คนเราจะมีแรงจูงใจที่จะกระทำซ้ำอีก (Rewards

แต่ถ้าครั้งก่อนได้ผลลัพธ์ที่ ไม่พึงพอใจ คนเราจะมีแรงจูงใจที่จะหยุดการกระทำนั้นไป (Punishments)

ดังนั้น เราจึงต้องค้นให้พบว่า อะไรคือสิ่งที่เขาพึงพอใจ และ อะไรคือสิ่งที่เขาไม่พึงพอใจ 
แล้วจัดเตรียมเอาไว้มอบให้เขาเป็นรางวัล

 
บทเรียนที่ 3
ขึงเชือกใต้น้ำ
สร้างสภาพแวดล้อม-ประสบการณ์ของความสำเร็จ

หลักในการสร้างพฤติกรรม (ยากๆ) ที่เขาไม่เคยกระทำมาก่อนนั้นระบุว่า เราต้องสร้างสภาพแวดล้อม และประสบการณ์ของความสำเร็จ ให้เกิดขึ้นให้ได้ นั่นคือ

ให้เขาทำในเรื่องที่ง่ายพอที่จะให้เขาเชื่อมั่นว่า เขาสามารถทำได้ เพราะเมื่อเขาทำสำเร็จ ประสบการณ์ของความสำเร็จ นี้ จะทำให้เขามี ความมั่นใจ มากยิ่งขึ้นในการกระทำครั้งต่อๆไป

แต่ต้องให้แน่ใจว่า เมื่อเขาปฏิบัติงานได้ตามเกณฑ์แล้ว เขาจะได้รับสิ่งที่น่าพึงพอใจเป็น “รางวัล” ด้วย



บทเรียนที่ 4
ให้ปลาและการสัมผัส
มีการให้รางวัลทั้งแบบที่จับต้องได้ และแบบจับต้องไม่ได้

ตามหลักการแล้ว “รางวัล” นั้นมีอยู่ 2 ประเภทคือ

1.  รางวัลที่จับต้องได้ (Tangible rewards) เช่น เงินรางวัล เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร ถ้วยโล่ สร้อยคอ เป็นต้น

2.  รางวัลที่จับต้องไม่ได้ (Intangible rewards) เช่น คำชมเชย การสัมผัสมือ การให้อำนาจในการสั่งงาน เป็นต้น

ข้อควรระวังสำหรับการให้รางวัล นั่นก็คือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Over justification effect คือ รางวัลที่เป็นทรัพย์ได้ไปทำให้ผู้ได้รับ เกิดการกระทำพฤติกรรมเพราะต้องการทรัพย์นั้น ไม่ได้ทำเพราะชอบ ดังนั้น จงพยายามให้รางวัล ประเภทที่จับต้องไม่ได้ ให้มากกว่า ประเภทที่จับต้องได้



บทเรียนที่ 5
การเพิกเฉย
ไม่ใส่ใจในพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง

ตามหลักการสร้างพฤติกรรมมนุษย์ แล้ว
“การลงโทษ” เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้กระทำ

ถึงแม้ว่า “การลงโทษ” จะเป็นการ “หยุดยั้ง” พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ แต่มันก็ไม่ได้ช่วย “สร้าง” พฤติกรรมที่ต้องการ ขึ้นมาแต่อย่างใด

ดังนั้น การ เผิกเฉย ไม่ใส่ใจ หรือ การไม่เห็นว่าการกระทำที่ผิดพลาดนั้นเป็น สาระสำคัญ และหันไปให้ความสำคัญกับ การให้รางวัล ต่อ พฤติกรรมที่พึงประสงค์ คือ วิธีการที่มีประสิทธิผลยิ่งกว่า

  
บทเรียนที่ 6
ยกระดับเชือก
ส่งเสริมความมั่นใจ และพัฒนาศักยภาพขึ้นเสมอ

การที่ครูฝึกปลาวาฬ ค่อยๆยกระดับของเชือกขึ้นทีละน้อยๆ นั้นก็เปรียบได้กับ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร หรือ การทำให้เขามี ความสามารถที่ สูงขึ้น มากขึ้น เสมอ

นั่นก็คือ การมอบหมายงานที่ ยากขึ้นกว่าเดิม ให้กับเขา แต่ต้องแน่ใจว่า งานนั้นไม่ยากเกินไป จนเขา “กลัว” ที่จะทำ และต้องไม่ง่ายจนไม่เกิดการพัฒนาด้วย

สิ่งที่ควรตระหนัก คือ การพัฒนาศักยภาพของบุคคลนั้น...ต้องใช้เวลา และเป็นไปตามขั้นตอนอย่างสม่ำเสมอ


จบบทเรียนจากครูฝึกปลาวาฬ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น